Custom Search

September 26, 2009

Micro Hydro Turbine Generator (MHTG)

สวัสดีเพื่อนๆ ทุกท่านนะครับ ผมต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้เข้ามาอัพเดทข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมให้เพื่อนๆ เพราะว่าช่วงนี้ผมงานเยอะเหลือเกิน เพราะงานโครงการฯ เข้ามาใหม่ 2-3 สัญญา ต้องเตรียมงานงานเอกสารเยอะมาก แบบว่าเมื่อมีงานก็ต้องทำนะ และตัวผมเองก็มองว่าการทำงานเป็นกำไรของชีวิต วันนี้ผมมีความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ ของการประปานครหลวงมาให้เพื่อนได้ลองอ่านกัน แต่ถ้าดูจากหัวข้อเรื่องแล้วเพื่อนๆ อาจจะงงกันว่า...คืออะไรหว่า ว่าแล้วก็ลองอ่านพร้อมกันเลยนะครับ


ระบบการจ่ายน้ำของการประปานครหลวง
สถานีสูบจ่ายน้ำเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจ่ายน้ำประปาซึ่งมีความสำคัญ โดยเป็นสถานีที่เก็บและสำรองน้ำประปาที่ได้จากระบบผลิต เพื่อนำเข้าสู่ระบบสูบส่งน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำ ตามพฤติกรรมการใช้น้ำที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา โดยทำให้ผู้ใช้น้ำสามารถใช้น้ำประปาได้อย่างไม่ติดขัดและสม่ำเสมอ

สำหรับสถานีสูบจ่ายน้ำของการประปานครหลวง ประกอบด้วย สถานีสูบจ่ายน้ำลาดพร้าว ลาดกระบัง พหลโยธิน มีนบุรี บางพลี สำโรง คลองเตย ลุมพินี เพชรเกษม ท่าพระ และราษฎร์บูรณะ เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของฝ่ายสถานีสูบจ่ายน้ำ สายงานผลิตและส่งน้ำ (ฝสน.ชวก.(สจ.))


ภาพแสดงระบบการจ่ายน้ำของการประปานครหลวง

วัตถุประสงค์ของโครงการ
Micro Hydro Turbine Generator : MHTG
เนื่องด้วยนโยบายการอนุรักษ์พลังงานของการประปานครหลวง สายงานผลิตและส่งน้ำจึงมีความคิดในการลดค่าพลังงานที่ใช้ในระบบการจ่ายน้ำ ซึ่งต้องมีการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบอย่างมาก


ภาพแสดงระบบส่งน้ำของการประปานครหลวงไปยังสถานีสูบจ่ายน้ำต่างๆ

เมื่อทำการพิจารณาถึงระบบส่งน้ำ จากโรงงานผลิตน้ำบางเขนผ่านระบบส่งน้ำบางเขน 02 ซึ่งระบบการส่งน้ำนี้จะทำการส่งน้ำประปาในระบบผลิตจากบางเขนมีปลายทางยังสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง (ระยะทางในระบบส่งมากกว่า 28 กิโลเมตร) โดยในเส้นทางระบบส่งน้ำนี้ มีสถานีจูบจ่ายน้ำลาดพร้าว คลองเตย และลาดกระบัง รับน้ำระหว่างทาง ก่อนถึงปลายทางที่สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง


ภาพแสดงกราฟความสัมพันธ์ระหว่างแรงดันน้ำและระยะทางจากสถานีสูบส่งน้ำบางเขน ถึงสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง (Energy-Hydraulic Grade Line)

จากกราฟ
ระบบส่งน้ำต้องมีการสร้างแรงดันในระบบส่งน้ำของบางเขน มากกว่า 37 เมตร* (น้ำ) (*เปรียบเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งมีการสูญเสียแรงดันในเส้นท่อตลอดจนมีแรงดันมาถึงปลายทางสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรงที่ประมาณ 5 ถึง 6 เมตร (น้ำ) สำหรับสถานีสูบจ่ายน้ำที่อยู่ระหว่างทางนั้น พบว่า แรงดันน้ำในระบบก่อนเข้าสถานีสูบจ่ายน้ำลาดพร้าว มีค่าประมาณ 17 เมตร (น้ำ) สถานีสูบจ่ายน้ำคลองเตยมีค่าประมาณ 15 เมตร (น้ำ) ค่าแรงดันในอุโมงค์ส่งน้ำนี้ จัดเป็นพลังงานสูญเสีย

เพื่อลดพลังงานที่สูญเปล่าจากแรงดันน้ำสายงานการผลิตและส่งน้ำ การประปานครหลวง จึงได้จัดทำโครงการผลิตไฟฟ้า จากแรงดันน้ำในระบบส่งน้ำ ด้วยเครื่อง Generator โดยมีหลักการอาศัยแรงดันน้ำในระบบส่งน้ำ ซึ่งมีเพียงพอขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้า และนำพลังงานที่ได้กลับมาใช้ในระบบ หรือจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้านครหลวงต่อไป

ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลระบบส่งน้ำ ข้อมูลการจ่ายน้ำและปัจจัยต่างๆ จึงสามารถสรุปได้ว่าบริเวณสถานีสูบจ่ายน้ำลาดพร้าว สามารถนำแรงดันน้ำในระบบส่งมาผลิตไฟฟ้าได้ ผ่านชุดใบพัด (Hydro Turbine) ขับเคลื่อนด้วยแรงดันน้ำภายในเส้นท่อส่งน้ำ (ระบบปิด) ซึ่งต่อเข้าสู่เครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก (Micro Generator) มีการประสานงานการออกแบบและการติดตั้งโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเตรียมการจำหน่ายไฟฟ้าโดยการไฟฟ้านครหลวง

การประปานครหลวงจึงกำหนดโครงการติดตั้งเครื่อง Micro Hydro Turbine Generator : MHTG ภายในสถานีสูบจ่ายน้ำลาดพร้าว จำนวน 3 เครื่อง ที่กำลังการผลิตไฟฟ้า 150 kW ต่อเครื่องหรือรวม 450 kW ด้วยเงินลงทุนโครงการประมาณ 20 ล้านบาท

การดำเนินการติดตั้งเครื่อง
Micro Hydro Turbine Generator : MHTG



ได้มีการดำเนินการติดตั้งและทดสอบประสิทธิภาพของเครื่อง MHTG ตั้งแต่กลางปี 2549 และเริ่มดำเนินการติดตั้งในเดือนธันวาคม 2549 จนเสร็จสิ้น สามารถใช้งานได้ปกติในเดือนมิถุนายน 2550 (ระยะเวลาดำเนินงานโครงการติดตั้ง รวม 7 เดือน)

ข้อมูลเบื้องต้นเครื่อง MHTG สถานีสูบจ่ายน้ำลาดพร้าว ในการใช้งานจริง
- ช่วงกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ 50-150 kWH ต่อเครื่อง
- ช่วงการปฏิบัติงานที่แรงดัน 0.80 ถึง 1.40 kg/cm3
- เมื่อทำการเดินเครื่อง มีอัตรารับน้ำระหว่าง 5,300 ถึง 6,000 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง ต่อเครื่อง

ทั้งนี้ แรงดันน้ำในระบบส่งตามปกติมีค่า 1.20 kg/cm3 ซึ่งให้ค่ากำลังไฟฟ้าเฉลี่ย 120 kWH (สามารถอ่านค่าแรงดันในระบบได้ 17-18 เมตร (น้ำ))

องค์ประกอบด้านไฟฟ้า
Generator : 3 Motor 50 Hz 160 kW with 400V
Transformer : CAPACITY 630 kVA Primary 6600 V./Secondary 400/230 V.
HV.Cable : Type by XLPE Rated 17.5 kV. 200 A.70 Sq.mm.
RelayPanel : Type by P341 Interconnection Protection
Switchgear : Model RM6 Type 3 Phase 17.5 kV. 200A.

ผลการใช้งานเครื่อง
Micro Hydro Turbine Generator : MHTG
ภายหลังการติดตั้งเครื่อง MHTG แล้วเสร็จครบทั้ง 3 เครื่อง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 (ผ่านช่วงทดลองและปรับแต่งระบบให้เหมาะสม) ได้มีการใช้งานเครื่อง MHTG ร่วมกับระบบการสูบจ่ายน้ำตามปกติของสถานีสูบจ่ายน้ำลาดพร้าว โดยปัจจุบันมีการเดินเครื่องเฉลี่ย 61 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้องควบคุมปริมาณน้ำเข้าถังเก็บน้ำให้เหมาะสม

ทั้งนี้ อัตราส่วนปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยในช่วง On-Peak คิดเป็น 47.20% และช่วง Off-Peak คิดเป็น 52.80% (รวม 100% ) และเมื่อนำข้อมูลปริมาณไฟฟ้าที่เครื่อง MHTG ผลิตได้ในแต่ละเดือนไปเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด เฉลี่ยเท่ากับ 18.25% ต่อเดือน คำนวณเป็นจำนวนเงินค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้จากการใช้งานเครื่อง MHTG โดยถือเป็นผลตอบแทนของโครการ พบว่ามีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 368,835 บาท ต่อเดือน หรือ 4,424,020 บาท ต่อปี

นอกจากผลการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถมองเห็นเป็นรูปธรรม การลงทุนในโครงการติดตั้งเครื่อง MHTG นี้ ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ และกระตุ้นให้พนักงานเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน มีการเรียนรู้ใหม่ในการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรต่อการอนุรักษ์พลังงาน

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่
ฝ่ายสื่อสารองค์กร การประปานครหลวง
400 ถ.ประชาชื่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทร.0 2504 0123 โทรสาร 0 2503 9456
e-mail : mwa1125@mwa.co.th
www.mwa.co.th

เพื่อนๆ อย่าลืมติดตามบทความต่อไปของผมนะครับ B..Bye

No comments:

Post a Comment