Masdar City, UAE
Eco-City โครงการแรกที่อยากจะหยิบมานำเสนอ ณ ที่นี้ เป็นโครงการที่มีชื่อว่า Masdar City ตั้งอยู่ ณ กรุงอาบูดาบี เมืองหลวงชองสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โครงการนี้ที่ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกนามกระเดื่องแห่งสหราชอาณาจักร Foster+Partners ร่วมกับ Arup บริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านงานวิศวกรรมและงานเทคนิค ที่ร่วมกันเนรมิตผืนทรายอันเวิ้งว้างบนพื้นที่ราว 6 ตารางกิโลเมตร ให้กลายเป็นเมืองใหม่สำหรับรองรับประชากรราว 45,000-50,00 คน ภายในเมืองจะประกอบด้วยที่พักอาศัย แหล่งงาน แหล่งธุรกิจ และสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันที่ชื่อ "มาสดาร์" ที่จะเป็นศูนย์กลางของการศึกษา การวิจัย และการค้นคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยแนวคิดการออกแบบและวางผังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมพื้นที่ถิ่น ทำให้รูปแบบอาคารต่างๆ ในเมืองเป็นแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ไม่มีอาคารสูงๆ เหมือนเมืองน้องอย่างดูไบ นอกจากรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ได้หยิบยืมมาแล้ว ผู้ออกแบบยังนำเทคนิคการประหยัดพลังงานของบ้านอาหรับโบราณมาประยุกต์ ด้วยการวางอาคารให้ชิดและเกาะกลุ่มกันเพื่อให้เงาตกกระทบของอาคารข้างเคียงช่วยกันแดด นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้แผงบังแดดเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับแสงอาทิตย์โดยตรง
จุดเด่นที่ทำให้เมืองนี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก คือ การเป็นเมืองที่ไม่ใช้พลังงานจากคาร์บอนใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็น The World's First Carbon-Neutral, Zero-Waste City ให้ได้ ทำให้เมืองไม่มีการปล่อยของเสียและสารเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อมเลย นอกจากนี้ในการก่อสร้างยังใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ขยะเกือบทั้งหมดในเมืองนี้จะถูกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ น้ำเสียจะผ่านกระบวนการบำบัดเป็นอย่างดีบางส่วนถูกนำกลับมาใช้ใหม่และบางส่วนถูกนำไปใช้ในการปลูกพืชพลังงาน ภายในเมืองนี้จะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์เข้ามาผู้คนในเมืองจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นหลัก ซึ่งจะวิ่งตามจุดต่างๆ ที่สำคัญๆ อย่างครอบคลุมทั่วทั้งเมือง การใช้ไฟฟ้าในเมืองนี้จะใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (Solar Photorvoltaic Plant) เกือบทั้งหมด นอกนั้นอาคารหรือบ้านแต่ละหลังจะติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยตนเอง
อยากให้มีที่เมืองไทยบ้างจัง คงจะดี แต่ว่าค่าห้องแพงน่าดูเลย อย่าลืมติดตามว่าเมืองต่อไปคือที่ไหนนะครับ ใบ้ให้นิดหนึ่งคืออยู่ใน Asia เรานี่เองครับ ที่ไหนเอ่ย ????
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คอลัมน์ G-GREEN WORLD โดยคุณจักรสิน น้อยไร่ภูมิ
จากหนังสือ GREEN NETWORK, DECEMBER 2009
No comments:
Post a Comment